Friday, August 28, 2015

ฉื่อคัก วัชพืชเลอค่าประจำเทศกาลสารทจีน

เนื่องจากวันนี้ (28 ส.ค. 58) เป็นวันสารทจีน เลยขอเขียนอะไรจีน ๆ หน่อยก็แล้วกันครับ

ตามความเชื่อแล้ว วันสารทจีนเป็นวันที่ประตูยมโลกเปิดออกให้วิญญาณของผู้วายชนม์ทั้งหลายได้หวนคืนกลับสู่โลกมนุษย์อีกครั้งในรอบปี ในวันนี้วิญญาณบรรพชนจะได้กลับมาเยี่ยมเยือนบุตรหลาน จึงเป็นธรรมเนียมที่บุตรหลานจะต้องตระเตรียมของเซ่นไหว้บรรพชนของตนกันให้ครบทั้งคาวหวาน หนึ่งในของไหว้ที่ขาดไปไม่ได้ คือขนมเทียนนั่นเอง

ตามตำรับดั้งเดิมแล้วตัวแป้งขนมเทียนนั้นจะผสมหญ้าชนิดหนึ่งลงไปด้วย คือหญ้าที่มีนามว่า "ฉื่อคัก" พืชชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gnaphalium affine เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับพวกทานตะวัน พืชชนิดนี้มีสรรพคุณทางยามากมาย ในฐานะสมุนไพรแล้วมีการนำไปใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ ลดไข้ ปวดตามข้อ แก้ตกขาวและอื่น ๆ เนื่องจากมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จึงมีการนำไปผสมในอาหารหลายชนิด อาหารที่มีฉื่อคักเป็นส่วนประกอบที่โด่ดังคือ ฉื่อคักก้วย ซึ่งถือเป็นขนมเก่าแก่ของแต้จิ๋วที่ปัจจุบันยังคงพอหาทานได้ในย่านคนจีน เช่นในเยาวราชเป็นต้น

ดอกพืชตระกูลฉื่อคัก ภูทับเบิก จ. เพชรบูรณ์

พืชชนิดนี้พบเจอเป็นพืชท้องถิ่นในประเทศแถบเอเชียตะวันออก แต่สามารถพบเจอเป็นพืชพื้นถิ่นในแถบภูเขาสูงในไทยได้ด้วยเช่นกัน แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการให้แก่พืชชนิดนี้ ถึงแม้ในบางท้องถิ่นมีการเรียกว่า หนาดคำน้อยก็ตาม


อนึ่ง พืชในสกุลนี้ที่พบเป็นพืชท้องถิ่นในไทยมีด้วยกันสามสายพันธุ์ คือ Gnaphalium affine, Gnaphalium hypoleucum และ Gnaphalium polycaulon ซึ่งทั้งสามชนิดนี้ล้วนแล้วแต่ยังไม่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการครับ

2 comments:

  1. Gnaphalium affine, Gnaphalium hypoleucum และ Gnaphalium polycaulon มีใครใช้เป็นอาหารหรือเปล่าครับ?

    ReplyDelete
    Replies
    1. Gnaphalium polycaulon มีอ้างถึงว่าใช้เป็นตัวแต่งกลิ่นในอาหาร และใช้ช่วยไล่ลมในท้องครับ แต่ไม่มีการลงรายละเอียดว่าใช้ในตำรับเมนูใด
      (อ้างอิงจาก Sahakitpichan P, et al. 3-Hydroxydihydrobenzofuran glucosides from Gnaphalium polycaulon. Chem Pharm Bull. 2011; 59(9): 1106-2.)
      ส่วน Gnaphlium hypoleucum มีปรากฎว่านำใบไปประกอบอาหาร แต่เช่นกันครับไม่มีลงรายละเอียดว่าใช้ปรุงเมนูใด

      Delete