Friday, August 28, 2015

จันทน์ จากเครื่องหอมสู่เครื่องประหารเจ้าขุนมูลนาย

ครั้งก่อนเขียนถึงทานาคาหรือกระแจะไว้ แล้วมีการกล่าวถึงไม้จันทน์ในรูปของกระแจะจันทร์เอาไว้ เห็นว่าถ้าไม่เขียนถึงไม้จันทน์ด้วยก็จะไม่ครบจบถ้วนกระบวนความ เลยเขียนเรื่องไม้จันทน์แยกไว้อีกหนึ่ง

ไม้จันทน์ หรือชื่อทางการคือจันทน์ชะมดนั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mansonia gagei เป็นพืชในวงศ์ Sterculiaceae เป็นไม้ท้องถิ่นของไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ในอดีต (รวมถึงในปัจจุบัน) จัดเป็นสินค้าเศรษฐกิจราคาแพง ชนิดที่รัฐบาล (ในสมัยนั้นคือราชวงศ์) เป็นผู้ผูกขาดการค้าเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว ด้วยไม้จันทน์นั้นมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งมาจากน้ำมันหอมระเหยในแก่นไม้ ในทางยาแล้วมีการนำไปใช้เป็นยาหอมบำรุงหัวใจ แก้วิงเวียน แก้คลื่นไส้อาเจียน เป็นยาระงับประสาทและกระตุ้นความสดชื่นให้แก่ร่างกาย

ต้นจันทน์ (ภาพจากก website ของสำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช,
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)

ด้วยไม้จันทน์เป็นไม้เนื้อดีมีกลิ่นหอม จัดเป็นของสูงในสมัยก่อนจึงนิยมนำไปสร้างตำหนักราชวังต่าง ๆ เมืองที่มีการนำไม้จันทน์ไปสร้างสิ่งปลูกสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์คือเมืองเวียงจันทน์ สมัยก่อนเวียงจันทน์มีชื่อเต็มว่า "เวียงต้ายไม้จันทน์" แปลได้ว่าเมืองที่มีรั้วกำแพงเมืองทำด้วยไม้จันทน์ เมื่อเวลาผ่านไปชื่อเมืองก็ถูกเรียกกร่อนลงจนเหลือเพียงเวียงจันทน์

นอกจากใช้ในทางสิริมงคล เช่นสร้างเมืองหรือเครื่องสำอางแล้ว ไม้จันทน์ยังเกี่ยวข้องกับทางอวมงคลด้วย ด้วยถูกใช้เป็นเครื่องประหารชีวิตบรรดาเจ้านายชั้นสูงทั้งหลายอีกด้วย ด้วยเป็นธรรมเนียมว่าเชื้อพระวงศ์นั้นห้ามกระทำให้เลือดตกยางออกหยดลงแผ่นดิน จะบังเกิดเป็นอุบาทว์แก่ชาติบ้านเมือง จึงต้องสำเร็จโทษด้วยการทุบเพื่อมิให้เกิดบาดแผลขึ้น ธรรมเนียมนี้มีปรากฏในพงศาวดารพม่าด้วยเช่นกัน โดยทางพม่านั้นหากจะประหารเจ้านายบุรุษให้ทุบด้วยท่อนจันทน์ที่ท้ายทอย หากเป็นเจ้านายฝ่ายหญิงให้ทุบด้านหน้าให้กระเดือกแตก

นอกจากใช้เป็นเครื่องประหารแล้ว ไม้จันทน์ยังใช้ประกอบในพิธีศพต่อไปอีกด้วย โดยไม้จันทน์นั้นดั้งเดิมถูกใช้เป็นฟืนเผาพระบรมศพเท่านั้น ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ จำนวนไม้จันทน์มีให้ใช้ลดลง จึงมีผู้คิดประดิษฐ์นำไม้จันทน์มาฝานบาง ๆ ก่อนจะถักสานให้ออกมามีรูปร่างสวยงามเป็นดอกไม้ แล้วเรียกกันว่าดอกไม้จันทน์ ดอกไม้จันทน์นี้มีใช้กันแพร่หลายตกทอดมาจนถึงในปัจจุบันกัน แม้ในปัจจุบันจะใช้วัสดุอื่น ๆ ในการทำแทนไม้จันทน์แล้วก็ยังคงเรียกขานกันว่าดอกไม้จันทน์อยู่ เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมาถึงปัจจุบันนั่นเอง

จากข้างต้น จะเห็นได้เลยว่าไม้จันทน์นั้นเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยแต่โบราณ จนถึงปัจจุบันจริง ๆ

No comments:

Post a Comment