จากที่ครั้งก่อนได้เขียนเรื่องต้นโพธิ์ไป เลยมาลองรื้อหนังสือเกี่ยวกับพุทธประวัติที่มีอยู่ดู ก็พบว่าในพุทธประวัตินั้นมีการเอ่ยถึงบรรดาพรรณไม้ต่าง ๆ มากมายหลายชนิด หนึ่งในนั้นที่คนไทยรู้จักกันดีและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าต้นโพธิ์เลยก็คือต้นสาละ ด้วยตามพุทธประวัติแล้ว ไม้ชนิดนี้เกี่ยวเนื่องกับพระประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติจนถึงดับขันธ์ปรินิพพาน ดังปรากฏไว้ในพระประวัติยามประสูติว่า เมื่อครั้นที่พระนางสิริมหามายาได้เสด็จกลับสู่นครเทวทหะ เมืองต้นตระกูลของนางเพื่อเตรียมตัวคลอดนั้น ระหว่างทางได้ดำเนินมาถึงใต้ต้นสาละแล้วเกิดความปรารถนาที่จะหยุดพักผ่อนอิริยาบถ จึงหมายใจจะจับกิ่งต้นสาละยึดพระวรกายไว้แต่กิ่งนั้นอยู่สูงจนไม่อาจเอื้อมไปถึง พลันกิ่งต้นสาละนั้นก็น้อมต่ำลงมาเองจนพระนางเอื้อมถึง เมื่อทรงจับกิ่งยึดพระวรกายไว้แล้วก็บังเกิดอาการประชวรพระครรภ์จนให้กำเนิดเจ้าชายสิทธัตถะขึ้น ณ ใต้ต้นสะละนั้นเอง อีกครั้งหนึ่งที่ต้นสาละถูกกล่าวถึงในพุทธประวัติคือยามเมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ด้วยกล่าวกันไว้ว่าพระองค์ทรงทอดกายลงใต้ร่มต้นสาละคู่ ก่อนจะทรงละสังขารไป
ต้นสาละนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Shorea robusta ตามตำนานพื้นบ้านของอินเดียแล้ว กล่าวถึงต้นกำเนิดไว้ว่าถือกำเนิดจากเจ้าแม่นิรันตาลี โดยเจ้าแม่ได้เอ่ยถึงคุณประโยชน์ของต้นสาละไว้ว่า เป็นไม้เนื้อแข็งมีคุณสูงนัก จักใช้ทำประตูหรือทำบ้านก็ได้ ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อสาละในภาษาสันสกฤต “sala” ที่แปลว่าบ้าน เป็นการบอกเป็นนัยว่าไม้ชนิดนี้เหมาะนำไปทำตัวเรือนบ้านนัก (ซึ่งก็ไปพ้องกับชื่อวิทยาศาสตร์ของไม้ชนิดนี้เช่นกัน ด้วยคำว่า robusta นั้นมีความหมายว่าแข็งแกร่ง) นอกจากนี้แล้วยางของต้นสาละยังมีการใช้เป็นสมุนไพรสมานแผลและรักษาโรคผิวหนังได้อีกด้วย
ตามประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยก่อนนั้น จะมีการแทนนามต้นสาละว่าต้นรัง ดังปรากฎอยู่ในนิราศพระแท่นดงรัง ที่สร้างขึ้นจำลองสถานที่ปรินิพพานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ว่า ในสมัยก่อนนั้นแต่เดิมมีต้นรังขึ้นอยู่ริมพระแท่นข้างละต้น โน้มยอดเข้าหากัน (นัยว่าเพื่อจำลองสภาพให้เหมือนตอนพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานจริง ๆ ) แสดงให้เห็นว่าในสมัยก่อนนั้นเข้าใจกันว่าต้นรังและต้นสาละเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน แต่ในทางพฤกษศาสตร์ปัจจุบันแล้วจะแยกต้นรังกับต้นสาละออกเป็นไม้คนละต้นกัน โดยต้นรังนั้นปัจจุบันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea siamensis (จะเห็นจากชื่อได้ว่าเป็นไม้สกุลเดียวกันกับต้นสาละ) โดยต้นรังนั้นถือเป็นพืชท้องถิ่นในภูมิภาคอินโดจีน ต่างจากต้นสาละที่ในธรรมชาติจะพบกระจายตัวในแถบคาบสมุทรอินเดียเท่านั้น ทั้งนี้ต้นสาละและต้นรังนั้นมีลักษณธที่คล้ายคลึงกันมาก แตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อ อาทิ ใบแก่ของต้นรังจะมีสีแดง ส่วนของต้นสาละจะเป็นสีเหลืองนอกจากนี้ในบางท้องถิ่นของอินเดียเองมีการเรียกต้นสาละว่า "หะรัง" (Harang) ซึ่งออกเสียงคล้ายต้นรังของไทย จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นจุดให้คนสมัยก่อนสับนว่าต้นสาละคือต้นรัง จึงได้มีการแปลต้นสาละในพุทธประวัติว่าต้นรังก็เป็นได้
เมื่อพูดถึงต้นสาละไปแล้ว จะไม่พูดถึงต้นสาละลังกาไปก็คงไม่ได้ ด้วยไม้สองชนิดนี้นำพาความสับสนมึนงงมาสู่พุทธศาสนิกชนมานักต่อนัก ต้นสาละลังกาหรือต้นลูกปืนใหญ่ (Cannonball tree) นั้นมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Couroupita guianensis เป็นไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ คาดว่ากระจายพันธุ์มาถึงคาบสมุทรอินเดียได้ผ่านทางเรือสินค้าของชาวยุโรป พืชชนิดนี้ชาวอินเดีย ศรีลังกาเรียกในภาษาของตัวเองว่า Sala เหมือนกันกับต้นสาละในพุทธประวัติ (รวมถึงในบางท้องถิ่น เช่นอินโดนีเซียเองก็เรียกว่าต้น Sala เหมือนกัน) จึงทำให้มีการหลงเข้าใจผิดว่าเป็นต้นสาละในพุทธประวัติกันได้ ในปัจจุบันจึงมีการเรียกใหม่ว่าเป็นสาละลังกา เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นต้นไม้คนละต้นกับต้นสาละในอินเดีย ที่เป็นไม้ในพุทธประวัตินั่นเอง
จากซ้ายไปขวา: ดอกรัง ดอกสาละ และดอกสาละรังกา (ภาพจากก website ของสำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
|
No comments:
Post a Comment