ดังที่ได้กล่าวไปในบทความก่อนหน้าว่าเรื่องราวในพุทธประวัตินั้นมีเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับพรรณไม้หลากชนิด หนึ่งในพรรณไม้ที่มีความสำคัญในพุทธประวัติที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันนักคือมณฑา ตามพุทธประวัติแล้วดอกมณฑานั้นเป็นไม้สวรรค์ไม่มีอยู่บนโลกมนุษย์ จะอุบัติร่วงหล่นลงมายังโลกในวาระสำคัญ 8 ประการเท่านั้น คือ ยามเมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จลงมาจุติยังครรภ์มารดา ยามประสูติ ยามเสด็จออกผนวช ยามตรัสรู้ ยามตรัสปฐมเทศนา ยามทำยมกปาฏิหาริย์ ยามเสด็จกลับจากเทวโลก และยามเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
หนึ่งในเหตุการณ์ที่มีการกล่าวถึงดอกมณฑา คือยามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วเป็นเวลา 7 วัน พระมหากัสสปะได้เดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ระหว่างทางพบชาวเมืองกุสินาราเดินถือดอกมณฑาเสียบไม้ใช้ต่างร่มบังแดด จึงทราบขึ้นได้ในบัดดลว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในปัจจุบัน นามของดอกมณฑานั้นถูกนำมาตั้งเป็นพรรณไม้ชนิดหนึ่งในโลกมนุษย์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Talauma candollei หรือ Magnolia liliifera ดอกมณฑาเป็นไม้ในตระกูลแมกโนเลียที่มีลักษณะคล้ายยี่หุบ คือยามบานดอกจะไม่บานเต็มที่เหมือนแมกโนเลียชนิดอื่น ๆ ต่างกันที่ยี่หุบนั้นมีกลีบดอกสีขาว ส่วนมณฑานั้นมีกลีบดอกสีเหลืองทอง
ดอกมณฑา ถ่ายที่วัดพระแก้ว จ.เชียงราย |
อย่างไรก็ดี มณฑานั้นมิได้เป็นไม้ท้องถิ่นของประเทศไทยมาแต่เดิม (Magnolia liliifera ที่เป็นไม้พื้นเมืองของไทยนั้นจะเป็น variation obovata (Korth.) Govaerts มีชื่อไทยว่าตองแข็งหรือบุณฑา) ส่วนถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมณฑานั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะแพร่เข้ามาในไทยทางภาคใต้จากอินโดนีเซีย ด้วยมีบันทึกในบทละครเรื่องอิเหนา ที่นำเค้าโครงเรื่องมาจากวรรณคดีของอินโดนีเซียมีกล่าวถึงมณฑาไว้ว่า “ต้นมณฑามาแต่แขกแรกมี” จึงสันนิษฐานว่าชาวไทยน่าจะนำเข้ามณฑามาจากอินโดนีเซียนั่นเอง
อนึ่ง มีไม้พื้นถิ่นของไทยบางชนิดที่มีนามมณฑาอยู่ในชื่อเช่นกัน ได้แก่มณฑาดอย (Mangnolia garrettii) และมณฑาอ่างขาง (Magnolia hookeri) เนื่องจากลักษณะของดอกมณฑาสวรรค์ที่มีบรรยายในพุทธประวัตินั้นไม่แน่ชัด จึงอาจเป็นได้ว่า "มณฑา" ในพุทธประวัตินั้นอาจจะเป็นหนึ่งในไม้สองชนิดนี้ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันหากเอ่ยถึง "มณฑา" แล้วก็จะนับเฉพาะพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia liliifera เท่านั้น
No comments:
Post a Comment