Sunday, August 30, 2015

เรื่องของมะพร้าว ตอนที่ ๑ - ที่มาของคำว่า "นาฬิกา"

วันก่อนได้ลองชิมนมรสใหม่ ที่เป็นรสน้ำมะพร้าวอ่อนแล้ว ก็พบว่าอร่อยดีใช้ได้เหมือนกันครับ กลิ่นมะพร้าวอ่อน ๆ กลบกลิ่นนม บวกกับรสไขมันของนมทำให้รสมะพร้าวเข้มข้นขึ้น ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่อร่อยทีเดียวครับ

กินเสร็จ ก็นึกขึ้นมาได้ว่ามะพร้าวนั้นมีความเกี่ยวพันกับเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันชนิดหนึ่งเป็นอย่างมาก สิ่งนั้นคือนาฬิกา จึงขอนำเรื่องราวของนาฬิกามันบันทึกไว้ในที่นี้

มะพร้าว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera อยู่ในวงศ์ Arecaceae หรือไม้วงศ์ปาล์ม ส่วนที่ใช้บริโภคเป็นหลักคือส่วนของเนื้อมะพร้าวและน้ำมะพร้าว ซึ่งแท้จริงแล้วทั้งสองส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเมล็ดมะพร้าว (ส่วนของผลมะพร้าวจริง ๆ นั้นคือส่วนที่เป็นกะลามะพร้าว) มะพร้าวนี้ในภูมิภาคทางใต้ของอินเดียจะเรียกกันว่า "นาฬิเก" (nalikel ในภาษาเตกูลู) ซึ่งคำ ๆ นี้เป็นทั้งชื่อเรียกผลมะพร้าวในภาษาอินเดีย และชื่อเรียกเกาะ ๆ หนึ่งในภาคใต้ของอินเดียที่มีต้นมะพร้าวอุดมสมบูรณ์ มีบันทึกไว้ว่าในสมัยก่อนชนพื้นเมืองบนเกาะนาฬิเกนั้นจะบริโภคมะพร้าวเป็นอาหารหลัก ไม่มีการทำไร่เพาะปลูกใด ๆ ทั้งสิ้น

ลูกมะพร้าว ถ่ายที่ซอยสวนผัก เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

แล้วมะพร้าวหรือนาฬิเกมาเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์บอกเวลาที่ในปัจจุบันนี้เราเรียกว่านาฬิกาได้อย่างไร ก็ด้วยในสมัยก่อนเมื่อยังไม่มีนาฬิกากลไกนั้น ก็ต้องอาศัยดูเวลาจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวแล้วเปรียบเทียบเอา หนึ่งในนั้นคือการเอากะลามะพร้าว (หรือนาฬิเก) มาลอยน้ำให้ค่อย ๆ จมลง เมื่อกะลาจมลงถึงก้นภาชนะก็นับเป็นหนึ่งช่วงเวลา คือ "หนึ่งนาฬิเก" เมื่ออุปกรณ์กลไกบอกเวลาเข้ามาถึงประเทศไทย จึงนำชื่อนาฬิเกนั้นไปตั้งเป็นชื่อของอุปกรณ์ชนิดนั้น ๆ ด้วย เมื่อเวลาผ่านไปคำเรียกก็เพี้ยนไปให้ง่ายต่อการออกเสียงกลายเป็นนาฬิกา ดังที่ใช้อยู่ในไทยในปัจจุบันนั่นเอง

No comments:

Post a Comment