จากคราวที่แล้วที่พูดถึงที่มาของคำว่านาฬิกา ที่มาจากการนำกะลามะพร้าวมาลอยน้ำใช้ต่างอุปกรณ์จับเวลา มาในครั้งนี้จึงขอพูดถึงที่มาของคำว่ากะลาและมะพร้าวกันบ้าง
คำว่ามะพร้าวนั้นฟังดูเผิน ๆ ก็เหมือนคำไทยแท้ แต่แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดมาจากคำภาษาอินเดีย (เช่นเดียวกันกับคำว่านาฬิกา แต่คำหลังนี้ยังพอมีสัณฐานให้ดูออกได้ว่ามาจากภาษาต่างประเทศจริง)
คำว่า "พร้าว" นั้น เหล่าปราชญ์บัณฑิตสันนิษฐานกันว่ามาจากคำภาษามาลายายัน กอปปารา (Koppara) ซึ่งหมายถึงมะพร้าวแก่หรือมะพร้าวห้าว (คำนี้ต่อมาได้กลายเป็นที่มาของคำว่า Copra ที่ฝรั่งใช้เรียกเนื้อมะพร้าวเช่นกัน) เชื่อกันว่าคำนี้พอรับเข้ามาในประเทศไทยก็เพี้ยนกลายเป็นคำว่าพร้าว (Prao) ก่อนที่จะมีการเติมคำว่ามะ (กร่อนเสียงมาจากคำว่าหมากที่แปลว่าผลของต้นไม้) เพื่อสื่อว่าเป็นผลของต้นพร้าว จึงกลายเป็นมะพร้าวในปัจจุบัน
นอกจากนี้ คำว่า กอปปารานั้น ออกเสียงคล้ายกับคำว่า กัลป ของต้นกัลปพฤกษ์ หรือไม้สารพัดนึก สันนิษฐานกันว่าเนื่องจากต้นมะพร้าวนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทุกรูปแบบ ชาวอินเดียจึงมีความนับถือและเชื่อว่าต้นมะพร้าวนั้นก็คือไม้กัลปฟฤกษ์นั่นเอง จึงเรียกขานชื่อต้นไม้ชนิดนี้กันว่ากัลป
การเรียกต้นมะพร้าวว่าไม้กัลปพฤกษ์นั้นได้แพร่จากอินเดียเข้ามาสู่แถบคาบสมุทรมลายู (ปัจจุบันคือมาเลเซีย) และอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน โดยภูมิภาคแถบนั้นจะออกเสียงว่ากะลาปา คำ ๆ นี้ยังใช้เรียกเกาะในอินโดนีเซียที่มีต้นมะพร้าวขึ้นเยอะด้วยเช่นกันว่าเกาะกะลาปา (คือบริเวณเมืองจาร์กาตาในปัจจุบัน) คนไทยจะรู้จักคำนี้ในชื่อกะหลาป๋า หากใครเคยอ่านเรื่องระเด่นลันไดก็อาจจะคุ้นเคยกับคำ ๆ นี้ดี คำว่ากะลาปาหรือกะหลาป๋านี้ยังอาจเป็นที่มาของคำว่ากะลาอีกด้วยเช่นกัน
กะลามะพร้าว จากสันฐานจะเห็นว่าคล้านกับกะโหลกศีรษะมนุษย์จริง ๆ |
อนึ่ง ในเมืองไทยสมัยก่อนนั้น เราจะเรียกส่วนเปลือกนอกแข็ง ๆ ที่หุ้มเนื้อมะพร้าวของมะพร้าวว่ากะโหลก ซึ่งการเรียกส่วนนี้ว่ากะโหลกนั้นไปพ้องกับรากศัพท์ของคำว่ามะพร้าวในภาษาอังกฤษ (coconut) ว่า "coco" ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นภาษาสเปนหมายถึงกะโหลก (ทีมาของการใช้คำนี้เรียกมะพร้าว เพราะเปลือกนอกของผลมะพร้าวส่วนกะลานั้นมีสัณฐานคล้ายกะโหลกศีรษะมาก) ก็นับว่าแปลกดีที่ทั้งไทยและเทศต่างมีมองว่ามะพร้าวนั้นคล้ายกะโหลกศีรษะเหมือนกันนะครับ
No comments:
Post a Comment