ในตอนที่เขียน "เรื่องของมะพร้าว" ตอนที่ 2 นั้น (ตามไปอ่านได้ ที่นี่ ครับ) ได้กล่าวถึงเมืองกะหลาป๋าที่ขึ้นชื่อในเรื่องของกระจก หมวกสาน และชมพู่ไว้ ในครั้งนี้จึงนำเรื่องชมพู่จากเมืองกะหลาป๋านั้นมาขยายเพิ่มเติมครับ
ชมพู่ เป็นพืชในสกุล Syzygium อยู่ในวงศ์ Myrtaceae สันนิษฐานกันว่าต้นกำเนิดของชมพู่นั้นมาจากในแถบคาบสมุทรอินเดีย ก่อนจะแพร่กระจายมายังภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ในภายหลัง คำว่าชมพู่ในภาษาไทยนั้น สันนิษฐานกันว่ามาจากคำภาษาชวา "จัมบู" (Jambu air) ที่ใช้ในการเรียกชมพู่ในแถบชวาและมลายู แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้เช่นกัน ว่าคำว่าจัมบูของชวานั้นก็อาจจะเพี้ยนมาจากภาษาในแถบอินเดียเช่นกัน โดยชมพู่ในภาษามราฐีนั้นออกเสียงว่าจัม (Jamb) ส่วนในภาษาทมิฬนั้นออกเสียงว่าชัมไป (Champai) ซึ่งทั้งสองคำล้วนออกเสียงคล้ายกับคำว่าจัมบูด้วยกันทั้งคู่
ในปัจจุบัน สายพันธุ์ชมพู่ที่พบในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากนักพฤกษศาสตร์มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 9 สายพันธุ์ ได้แก่
ชมพู่อักษร Syzygium aksornae
ชมพู่กลม Syzygium anacardiifolium
ชมพู่ป่า Syzygium aqueum
ชมพู่นก Syzygium formosum
ชมพู่น้ำดอกไม้ Syzygium jambos
ชมพู่สาแหรก Syzygium malaccense
ชมพู่นกปักษ์ใต้ Syzygium pseudoformosum
ชมพู่แก้มแหม่ม Syzygium samarangense
ชมพู่น้ำ Syzygium siamense
โดยทางพฤกษศาสตร์แล้ว สายพันธุ์ชมพู่ที่บริโภคกันในปัจจุบัน ส่วนมากล้วนเกิดมาจากการกลายพันธุ์และพัฒนามาจากสายพันธุ์ของชมพู่ป่าเป็นหลัก ส่วนชมพู่ที่ชาวตะวันตกรู้จักกันดีนั้นจะพัฒนามาจากสายพันธุ์ของ Syzygium samarangense เป็นหลัก
ดอกชมพู่สาแหรก ถ่ายที่เขตบางนา กรุงเทพฯ |
อนึ่ง ในภาษาฮินดีเรียกชมพู่น้ำดอกไม้ว่า "กุหลาบจามุน" (Gulab jamun) ซึ่งไปพ้องกับชื่อของขนมกุหลาบจามุนพอดี เมื่อพิจารณาจากรูปร่างของขนมที่เป็นทรงกลมและมีกลิ่นหอมของน้ำกุหลาบที่ไปพ้องกับลักษณะของผลชมพู่น้ำดอกไม้พอดี ก็อาจเป็นไปได้ว่าขนมกุหลาบจามุนนั้นมีที่มาจากการทำเลียนแบบรูปร่างและลักษณธของผลชมพู่น้ำดอกไม้นั่นเอง
แล้วชมพู่จากเมืองกะหลาป๋านั้นคือสายพันธุ์ใดในสายพันธุ์ข้างต้นกัน?
เนื่องด้วยชมพู่แก้มแหม่มหรือ Syzygium samarangense มีชื่อพ้องว่า Eugenia javanica จากชื่อแสดงให้เห็นว่ามีต้นกำเนิดมาจากเมืองชวา หรือเมืองกะหลาป๋าที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์นั่นเอง ในปัจจุบัน ชมพู่กะหลาป๋าถูกจัดให้ถือว่าเป็นชื่อพ้องของชมพู่แก้มแหม่มนั่นเอง
ไหน ๆ แล้ว ก็ขอแถมท้ายด้วยเรื่องของชมพู่เพชร ของโปรดของผมสักเล็กน้อยแล้วกันครับ
ชมพู่เพชรนั้น คาดว่าเป็นลูกผสมที่เกิดจากการผสมกันระหว่างชมพู่กะหลาป๋า กับชมพู่สาแหรก ต้นตอของชมพู่เพชรนั้นสามารถสืบย้อนไปได้นานสุดคือสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการบันทึกว่ารัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานกิ่งพันธุ์ของบรรพบุรุษของชมพู่เพชรให้แก่ราษฎรไปเพาะปลูกกัน โดยชมพู่ทีพระราชทานนั้นเรียกกันในยุคนั้นว่าชมพู่เขียวเสวย (เนื่องจากผลแก่มีสีเขียวอ่อนเป็นหลัก) โดยชมพู่ชนิดนี้มีการนำมาปลูกนอกเขตพระราชฐานเป็นแห่งแรกที่ อ. บ้านลาด จ. เพชรบุรี จึงได้รับการขนานนามว่าชมพู่เพชรด้วยเหตุนี้นี่เอง
No comments:
Post a Comment