Sunday, September 20, 2015

พุทรา กับเบื้องหลังการประกาศอิสรภาพของไทย

ที่ปากซอยบ้านผมนั้น เคยเป็นที่ดินรกร้างมีต้นไม้ขึ้นรกครึ้ม ตรงหัวเลี้ยวโค้งนั้นมีต้นพุทราใหญ่ต้นหนึ่ง อายุหลายปีแล้วต้นใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขามากมายคอยเป็นร่มเงาให้คนเดินถนนหรือคนที่ต้องยืนรอรถเมล์ มาบัดนี้ที่รกร้างนั้นแปรสภาพถูกถมไถกลบ เตรียมก่อสร้างเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่น่าทัศนานัก แน่นอนว่าต้นพุทราใหญ่ต้นนั้นก็ถูกตัดโค่นลงด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้คนเดินถนนไร้ร่มเงาไว้คอยบังแดด นกกาต่างไร้ร่มไม้ไว้คอยพักพิง การพัฒนาที่ทำลายสิ่งเก่าเพื่อสร้างสิ่งใหม่นี่ช่างได้ไม่คุ้มเสียจริง ๆ ครับ

คิดไปแล้วก็น่าเสียดายพุทราใหญ่ต้นนั้นมิใช่น้อย เพราะพุทรานั้นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการประกาศอิสรภาพของแผ่นดินสยามมาแต่ครั้งโบราณกาลเลยทีเดียว

พุทรานั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ziziphus jujuba มีชื่อสามัญว่า jujube หรือ Chinese Date หรืออินทผลัมจีน เนื่องจากในเมืองจีนจะนำผลพุทราที่สุกแดง คว้านเมล็ดออกแล้วตากแห้ง ได้ออกมาเป็นวัตถุสีแดงคล้ำที่ผิวนอกเหี่ยวย่นมีลักษณะคล้ายกับอินทผลัม หรือที่เราเรียกกันว่าพุทราจีนนั่นเอง คำว่าพุทรานั้นดูจากรูปศัพท์บ่งบอกชัดเจนว่าไม่ใช่คำไทยดั้งเกดิม สันนิษฐานว่ามาจากคำภาษาสันสกฤต พทรก่อนจะเพี้ยนเป็นพุทรา (อ่านว่า พุ-ทะ-รา) จนกลายเป้นพุทรา (อ่านว่าพุด-ซา) ดังในปัจจุบัน

เหตุการณ์ที่ต้นพุทรามาเกี่ยวข้องกับการประกาศอิสรภาพของไทยนั้น ปรากฏในยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในเหตุการณ์อันลือเลื่อง คือศึกยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา ตามที่บันทึกในหนังสือเรื่อง “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ระบุไว้ว่า พลายภูเขาทอง ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นมีขนาดตัวเล็กกว่าพลายพัทธกอ จึงชนสู้ไม่ไหวจนต้องล่าถอย ในระหว่างที่กำลังเพลี่ยงพล้ำอยู่นั้นเอง พลายภูเขาทองได้ถอยไปจนถึงถิ่นหนึ่งและได้อาศัยยันโคนต้นพุทราเพิ่มแรงชนจนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรได้ทีจึงฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์คาคอช้างทรง ณ ที่นั้นเอง

จิตรกรรมยุทธหัตถี วัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา
credit: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/4f/WatSuvandaramMural.jpg


หากเป็นเยี่ยงนี้ก็ถือว่า ต้นพุทรานั้นถือเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย และทำให้เมืองไทยเป็นเมืองไทยดังเช่นในทุกวันนี้ได้ สมควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ดังที่สวนพุทราประวัติศาสตร์ กรุงศรอยุธยา ก็ได้ทำการดูแลรักษาพุทราโบราณกว่า 800 ต้นไว้จนถึงปัจจุบันนี้

แต่ทว่า เหตุการณ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้นเคยเกิดขึ้นจริงหรือ? ด้วยแท้จริงแล้วหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น เป็นเรื่องที่ถูกแต่งเติมเสริมจริงขึ้น!

จริง ๆ แล้ว หนังสือเรื่อง“คำให้การขุนหลวงหาวัด” นั้น เกิดจากฝีมือการคัดลอกจากหนังสือในหอหนังสือหลวง ชื่อ “พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ” โดย นาย ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้ลักลอบคัดลอกหนังสือพงศาวดารต่าง ๆ ในหอหนังสือหลวง ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือเป็นการทำผิดกฎระบิลเมืองต้องอาญาหนัก นาย ก.ศ.ร. กุหลาบจึงได้คิดอุบายด้วยการแก้ไขสำนวน ปรับเติมข้อความแทรกลงไปให้ต่างจากต้นฉบับเพื่อจะได้อ้างได้ว่ามิได้คัดลอกไปจากของหลวง แต่ก็ทำให้เนื้อความนั้นคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงมาก ถึงขนาดพระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีรับสั่งเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ว่า "พิสดารฟั่นเฝือเหลือเกิน" จนในภายหลังทางรัฐบาลต้องออกหนังสือแก้ในชื่อว่า “คำให้การของขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง”

เมื่อเทียบเนื้อหากับพงศาวดารอยุธยาอีกฉบับหนึ่ง ที่ออกโดยหอหนังสือหลวง ชื่อ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ที่ต้นฉบับถูกส่งมาจากพม่าอีกทีหนึ่งนั้น เนื้อความในเหตุการณ์ยุทธหัตถีนั้นแตกต่างไปจากในฉบับขุนหลวงหาวัดอยู่ กล่าวคือในฉบับคำให้การชาวกรุงเก่านั้นระบุไว้ว่า พลายภูเขาทองกำลังน้อยกว่าจึงถอยร่นเข้าไปในป่าพุทรา แล้วยันตัวเข้ากับจอมปลวกหนึ่งในป่านั้นเป็นกำลังในการชนสู้กับพลายพัทธกอ สมเด็จพระนเรศวรได้ทีจึงฟันสมเด็จพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้างนั้นแล

เมื่อเป็นเช่นนี้ พุทรานั้นเป็นสิ่งช่วยกู้เอกราชให้แก่สยามประเทศ หรือเป็นเพียงสิ่งที่ “สิ่งที่ช่วยกู้เอกราชให้สยามประเทศ” (คือจอมปลวก) ได้อาศัยอยู่เท่านั้น ก็ยากที่จะสืบหาความจริงในปัจจุบันนี้แล้ว



ส่วน “สัญลักษณ์แห่งอิสรภาพแห่งสยามประเทศ” ที่ปากซอยบ้านผมนั้นก็ได้อันตรธานปลาสสิ้นไปแล้ว หรือนี่จะเป็นสิ่งบ่งบอกว่าเมืองเรานั้นไม่เคยมีอิสรภาพที่แท้จริงมาตลอดกันแน่?

No comments:

Post a Comment