Monday, November 23, 2015

อุปมาโวหารในวรรณคดีไทย: จาก


ในช่วงวัยเด็กของผมนั้น ผมอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากพื้นเพทางแม่นั้นเป็นคนพระประแดง ในละแวกบ้านเดิมในวัยเด็กของผมนั้นเป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรม ซึ่งยังพอเห็นร่องรอยของไม้ชายเลน อาทิลำพูหรือโกงกางอยู่บ้าง (ปัจจุบันได้อันตรธานไปหมดแล้ว) หนึ่งในไม้ชายเลนที่พบเห็นทุกครั้งที่ออกจากบ้านมาวิ่งเล่นหรือไปโงเรียนเสมอคือต้นจาก

ต้นจากหรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nypa fruticans เป็นพืชตระกูลปาล์มหนึ่งเดียวที่ได้วิวัฒนาการจนกลายเป็นไม้ที่ขึ้นในป่าชายเลนได้ นอกจากในไทยแล้วยังสามารถพบได้ในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอาคเนย์ บางภูมิภาคของอินเดีย หมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกรวมไปถึงออสเตรเลียและหมู่เกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ในไทยนั้นมีการนำต้นจากมาใช้ประโยชน์ในการทำขนมจาก ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว มะพร้าวทึนทึก (หรือมะพร้าวแก่) และน้ำตาลมะพร้าวนวดผสมเข้าด้วยกัน ก่อนจะห่อด้วยใบจากแล้วนำไปย่างจนเกรียมส่งกลิ่นหอม อีกทั้งผลจากอ่อนที่ยังไม่แก่ก็สามารถบริโภคได้ มีรสสัมผัสหนึบและมีรสหวานอ่อน ๆ นิยมนำมาเชื่อมหรือทำลอยแก้วเพื่อเพิ่มรสหวาน

ผลจาก ถ่ายที่บางกระเจ้า จ. สมุทรปราการ

เนื่องจากคำว่า”จาก” ของต้นจากนั้น ไปพ้องเสียงกับคำว่า”จาก”ที่มีความหมายถึงการอำลาจากกัน จึงมีการนำต้นจากนั้นไปใช้ในการบรรยายพรรณาเปรียบเทียบกับการอำลาของตัวละครในวรรณคดีไทยอยู่เนือง ๆ หนึ่งในวรณคดีที่มีชื่อเสียงที่มีการใช้ “ต้นจาก” เป็นสัญลักษณ์ของการอำลานั้น คือเรื่องอิเหนา ดังปรากฏในบทชมดงตอนศึกกะหมังกุหนิง ที่มีการใช้พันธุ์พืชและพันธุ์นกที่มีนามพ้องกับศัพท์ที่มีความหมายถึงความเศร้าสลดของตัวละครเอกที่ต้องจากบ้านเมืองมาทำสงคราม

เมื่อพูดถึงต้นจากในความหมายทางวรรณคดีแล้ว ก็เห็นจะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงต้นระกำและต้นสละไปไม่ได้ ด้วยไม้ทั้งสองชนิดนี้ก็มีความหมายพ้องกับศัพท์ที่แสดงความโศกเศร้าสูญเสียเช่นกัน อีกทั้งพืชทั้งสองต่างก็เป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับต้นจาก เพียงแต่ต่างสกุลกันเท่านั้น

ต้นสละ หรือเรียกกันในมาเลเซียและอินโดนีเซียว่า Salak นั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Salacca zalacca (ชื่อวิทยาศาสตร์น่าจะแผลงมาจากชื่อ salak ) เป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเชียอาคเนย์ จุดที่ต่างจากต้นจากชัดเจนคือต้นสละนั้นมีหนามแหลมคมตามก้านใบ สละจัดเป็นพืชเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะสละปนเดาะห์ (salak pondoh) หรือที่รู้จักในไทยในนามสละอินโด ที่มีรสหวาน เนื้อแห้ง ส่วนสละยอดนิยมอีกพันธุ์ คือสละบาหลีน้ำตาลทราย (gula pasir) ที่กล่าวกันว่ามีรสหวานที่สุดในสละทั้งปวง

ต้นระกำหรือ Salacca wallichiana มีลักษณะคล้ายสละมาก จุดต่างที่สังเกตได้ง่ายที่สุดคือผล โดยผลของสละนั้นจะมีลักษณะเรียวยาว เนื้อในมักจะมีเพียง1-2 กลีบ ในขณะที่ผลของระกำนั้นมีลักษณะกลมป้านกว่า และเนื้อในอาจแบ่งได้ถึง 2-3 กลีบ อย่างไรก็ตามเนื่องจากไม้ทั้งสองชนิดนี้อยู่ในสกุลเดียวกันจึงสามารถผสมข้ามสายพันธุ์ได้ ทำให้สละในท้องตลาดปัจจุบันอาจพบเนื้อในแบ่งเป็น 2-3 กลีบได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังพบไม้ลูกผสมระหว่างสละและระกำ ที่ออกมาไม่มีหนามเลยอยู่ด้วย เรียกกันว่า สะกำ

เนื่องจากระกำและสละนั้นมีลักษณะคล้ายกัน อีกทั้งชื่อของทั้งสองต้นยังไปพ้องกับศัพท์ที่บ่งบอกความสูญเสียเศร้าโศกได้เหมือนกัน ในวรรณคดีจึงมักปรากฏการใช้คู่กันเสมอในบทพรรณนาความเศร้าของตัวละคร ดังในลิลิตตะเลงพ่ายที่มีการพรรณาความทุกข์โดยใช้ระกำและสละคู่กันนั่นเอง

No comments:

Post a Comment