Tuesday, November 10, 2015

มะขามป้อม หยาดน้ำอมฤตแห่งอายุวัฒนะ

ช่วงนี้ตามปฏิทินแล้วถือว่าเป็นฤดูหนาว แต่ก็ยังคงมีฝนตกเป็นระยะ ๆ สลับกับอากาศเย็นในช่วงเช้า และร้อนตับแลบในช่วงบ่าย ตัวผมในฐานะเภสัชกรจึงมีคนไข้เป็นหวัดไม่สบายมาหาอยู่เนือง ๆ ซึ่งในบรรดายาแก้หวัดที่สามารถขายในร้านขายยาได้นั้น หนึ่งในยาที่มีพลานุภาพแก้ไอได้ฉะงัดนักคือมะขามป้อม โดยจะใช้เป็นยาช่วยให้ชุ่มคอแก้คันคอ เคียงคู่มากับมะแว้งที่ใช้เป็นยาขับเสมหะ

มะขามป้อม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus emblica ในอินเดียเรียกกันว่าต้นอัมลา หรืออามลกะ (อ่านว่า อา-มะ-ละ-กะ) (คำว่า emblica ในชื่อวิทยาศาสนตร์ของมะขามป้อมนั้น คาดว่าน่าจะแผลงมาจากคำว่าอัมลา หรือ amla)จัดเป็นหนึ่งในเครื่องยาที่มีการใช้ในศาสตร์แห่งอายุรเวท ได้รับการยกย่องว่าเป็นยาอายุวัฒนะที่รักษาได้ทุกโรค ที่มานั้นเนื่องมาจากตำนานในศาสนาฮินดู ที่นับถือมะขามป้อมว่าเป็นต้นไม้ประจำตัวของพระวิษณุหรือพระนารายณ์

อีกตำนานหนึ่งนั้นระบุว่าต้นมะขามป้อมมีกำเนิดมาจากหยาดน้ำอมฤตที่หยดลงมายังพื้นโลกโดยบังเอิญ ด้วยเหตุนี้ชาวอินเดียจึงถือกันว่ามะขามป้อมนั้นเป็นยาวิเศษที่ใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้นานาประการ และยังเป็นยาอายุวัฒนะที่ช่วยยืดอายุขัยออกไปได้อีกด้วย 

ในพุทธศาสนาแล้ว มะขามป้อมถือเป็นหนึ่งในผลเภสัช หรือผลไม้ที่เป็นยา ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันในยามวิกาลได้ อีกทั้งยังกล่าวกันว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ถวายแก่เหล่าภิกษูสงฆ์เป้นสิ่งสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระองค์ท่าน มะขามป้อมจึงถูกนำมาใช้เป็นแบบในการสร้างสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาหลายอย่าง อาทิเจดีย์ทรงมะขามป้อมครึ่งซีกที่อินเดีย หรือเจดีย์ที่ยอดปรางค์ทำเป็นทรงมะขามป้อมในพม่า เป็นต้น



เจดีย์เสียนเยียต ยีมา ที่ยอดปรางค์ทำเป็นทรงมะขามป้อม (ถ่ายที่พุกาม ประเทศพม่า)
มะขามป้อมยังปรากฏในพุทธชาดก ในส่วนของประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์ กล่าวคือครั้งหนึ่งหมอชีวกฯ ได้ถวายการรักษาแก่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ด้วยการให้เนยใสซึ่งพระองค์ทรงเกลียดชังนักโดยการปรุงแต่งกลิ่นรสกลบเสีย เมื่อถวายเสร็จก็กลัวพระเจ้าแผ่นดินจะพิโรธหากจับได้ว่าสิ่งที่เสวยเข้าไปคือเนยใส จึงรีบเดินทางออกจากเมื่อ ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินเมื่อจับได้ว่าโอสถนั้นเป็นเนยใส ก็สั่งให้มหาดเล็กไปตามหมอชีวกฯ กลับมารับโทษฐานหลอกลวง เมื่อมหาดเล็กเดินทางมาพบ หมอชีวกฯ ก็ทำอุบายเชื้อเชิญให้กินมะขามป้อม โดยตนกินให้ดูก่อนเพื่อให้เห็นว่าไม่มีพิษใด ๆ แต่ซีกที่หมอชีวกฯ กินนั้นได้แทรกยาต้านฤทธิ์ลงไปก่อน เมื่อนายมหาดเล็กกินมะขามป้อมซีดที่ไม่ได้แทรกยาลงไปก็เกิดการถ่ายท้องลง ณ ตรงนั้นจนไร้เรี่ยวแรง สุดที่จะจับตัวหมอชีวกฯ กลับไปได้ หมอชีวกฯ จึงเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพดังนี้แล

นอกจากในพุทธกาลปัจจุบันนี้แล้ว มะขามป้อมยังจัดเป็นต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าในกาลก่อน นามว่าพระปุสสพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้สำเร็จพระโพธิญาณอีกด้วย

ในอินเดียจะมีประเพณีการบูชาต้นมะขามป้อมในวันขึ้น 11 ค่ำเดือน 2 โดยในพิธีนั้นจะมีการรดน้ำต้นมะขามป้อมและสวดมนต์ขอพรให้มีสุขภาพดีและอายุยืน พิธีการบูชาต้นมะขามป้อมนี้ถือเป็นวันบอกการเริ่มต้นของเทศกาลสาดสี หรือ Holi festival อีกด้วย มะขามป้อมเองยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของผงสีเหลืองที่ใช้สาดในเทศกาลอีกด้วย จะเห็นได้ว่ามะขามป้อมนั้นแทรกซึมอยู่ในสังคมอินเดียจริง ๆ ครับ

No comments:

Post a Comment