Tuesday, September 1, 2015

เรื่องของมะพร้าว ตอนที่ ๓ – ว่าด้วยทะนาน

จากตอนที่แล้วที่กล่าวถึงที่มาของคำว่ามะพร้าวและกะลา ว่าน่าจะมีรากศัพท์มาจากภาษาอินเดียและชวา ในครั้งนีจะขอเอ่ยถึงศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวที่มีใช้ในไทยมานาน ทั้งในสุภาษิตและการละเล่นของเด็ก ๆ นั่นคือคำว่าทะนานครับ

ทะนานนั้นเป็นชื่อเรียกมาตรการชั่ง ตวง วัด แต่โบราณของไทย ตามปกติทะนานจะนิยมใช้เรียกการตวงของแข็งมากกว่าของเหลว ส่วนมากจะใช้ในการตวงข้าวโดยตั้งชื่อตามอุปกรณ์ที่ใช้ในการตวง นั้นคือทะนาน ซึ่งทำจากกะลามะพร้าว 
คำว่าทะนานนั้นปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏอยู่ในตัวบทกฎหมาย แต่สันนิษฐานกันว่าการใช้กะลาเป็นทะนานตวงวัดนั้นน่าจะมีใช้กันมาอย่างน้อยตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย ด้วยในสมัยนั้นเมืองไทยมีต้นมะพร้าวเยอะ ดังปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช 

นอกจากทะนานทั่ว ๆ ไปแล้ว ยังมีมาตราวัดที่เรียกกันว่าทะนานหลวง ซึ่งบัญญัติขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 มีอัตราเท่ากับ 1 ลิตรในระบบเมตริก อย่างใดก็ดีหลังการเข้ามาของระบบเมตริกทำให้การใช้ระบบชั่งตวงวัดแบบเดิมค่อย ๆ สูญหายไป ปัจจุบันคำว่าทะนานนั้นจะปรากฏในสุภาษิต อาทิ ยัดทะนาน ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยถึงการอัดสิ่งใด ๆ เข้าไปจนแน่น เปรียบเสมือนการตวงข้าวด้วยทะนานปริมาณมาก ๆ 

คำว่าทะนานนั้นดูเผิน ๆ ก็ดูคล้ายคำไทยแท้ แต่เมื่อพิจารณาถึงรากศัพท์ของทั้งกะลาและมะพร้าวแล้วก็น่าจะเชื่อได้ว่าคำว่าทะนานนั้นก็ควรจะมีรากศัพท์มาจากคำภาษาอินเดียด้วยเช่นกัน หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้คือ คำว่าทะนานนั้นมาจากคำว่า "นาราล" (Naral) ซึ่งเป็นคำเรียกมะพร้าวในภาษามราฐีในอินเดีย กับอีกข้อหนึ่งคือมาจากคำภาษาขอมว่า "เนียล" (Neal) ซึ่งเป็นคำเรียกกะลามะพร้าว (สันนิษฐานว่าคำว่าเนียลนั้นคือคำว่านาราลนั่นเอง) เนื่องจากอาณาจักรสยามได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากทั้งฝั่งขอมและอินเดีย ข้อสันนิษฐานทั้งสองข้อนี้จึงมีความเป้นได้ด้วยกันทั้งคู่ครับ


No comments:

Post a Comment