Thursday, September 3, 2015

เรื่องของมะพร้าว ตอนที่ ๔ - มะพร้าวในพิธีกรรมต่าง ๆ

ดังที่กล่าวไปในครั้งก่อน ๆ ว่าในอินเดียนั้นนับถือมะพร้าวมาก บางท้องถิ่นถึงขนาดยกย่องให้มะพร้าวเป็นดังต้นกัลปพฤกษ์ในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย ทีเดียว มะพร้าวจึงถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมบวงสรวงเทวะต่าง ๆ มากมายเช่นเดียวกัน ในภูมิภาคทางตอนเหนือของอินเดียนั้น มะพร้าวถือเป็นศรีผลา หรือผลไม้ของศรี เทวีแห่งโภคทรัพท์ การบูชามะพร้าวจะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ ความเชื่อแพร่ออกไปสู่อินโดนีเซีย ในบางท้องถิ่นสมัยก่อน ก่อนจะเริ่มเพาะปลุกหว่านไถ จะมีการบวงสรวงโดยการราดน้ำมะพร้าวลงดินก่อนจะเริ่มไถพรวนดินเพื่อให้ฟ้าฝนไม่แห้งแล้ง

นอกจากถือเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์แล้ว ผลมะพร้าวยังถือเป็น ตัวแทนของพระศิวะ เนื่องด้วยสัณฐานของผลที่มีตาอยู่สามตา เปรียบเสมือนพระศิวะที่มีสามเนตรเช่นกัน ในศาสนาฮินดูจึงถือกันว่ามะพร้าวเป็นผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ ในการทำพิธีสรงน้ำเทวรูปต่าง ๆ หรือทำกลัศบูชานั้นจะมีการนำลูกมะพร้าวมาปิดปากหม้อน้ำ โดยเปรียบให้เป็นที่สถิตของพระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งพิธีกรรม ตามปกติลูกมะพร้าวนี้จะไม่ถูกนำไปใช้งานอื่น ๆ แต่จะเก็บเอาไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลของตน หลังจากเก็บไว้จนถึงเวลาจะทำพิธีกรรมครั้งใหม่จึงจะนำไปจำเริญลอยน้ำต่อไป

การทำกลัศบูชา โดยนำใบมะม่วงใส่ในหม้อน้ำแล้วนำลูกมะพร้าวปิดปากหม้อ
 (รูปจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Kalasha)


เนื่องจากมะพร้าวมีสัณฐานคล้ายกับศีรษะมนุษย์ จึงมีพิธีการทุบมะพร้าวขึ้นในอินเดีย นัยว่าเพื่อเป็นการทำลายอัตตาของตนทิ้งไปให้บริสุทธิ์ รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ว่าอุปสรรคใด ๆ ที่ขวางกั้นอยู่ได้ถูกทำลายไปแล้วด้วยเช่นกัน 

นอกจากใช้ในพิธีมงคลต่าง ๆ แล้ว ลูกมะพร้าวยังถูกใช้ในงานอวมงคลเช่นงานศพด้วย ด้วยถือว่าน้ำมะพร้าวนั้นเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ประหนึ่งน้ำในแม่น้ำคงคา ในบางถิ่นจึงมีประเพณีใช้น้ำมะพร้าวรดชำระศพให้บริสุทธิ์รวมถึงในไทยด้วย ที่แปลกคือประเพณีดั้งเดิมของชาวทมิฬในบางท้องถิ่นนั้น เมื่อมีผู้ตายจะนำศพไปพิงไว้กับกำแพง ก่อนจะนำลูกมะพร้าวมาขว้างใส่ศพจนแหลกเหลวจึงจะนำไปฌาปนกิจต่อไป

ในพระราชพิธีบางพิธีในไทยนั้นก็มีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบด้วยเช่นกัน อาทิในพระราชพิธีลงสรงเพื่อชำระพระวรกายให้สะอาดศักดิ์สิทธิ์ (และอีกนัยหนึ่งเพื่อเป็นการฝึกหัดให้ชินกับการว่ายน้ำ) นั้นก็จะมีการใช้มะพร้าวปิดกระดาษทองกระดาษเงินร่วมด้วย โดยมะพร้าวที่ใช้นั้นจะเป็นมะพร้าวงอกเพื่อสื่อถึงความเจริญงอกงามในภายภาคหน้า โดยในพระราชพิธีนั้นผู้เข้าพิธีจะเสด็จลงสรงสนานพร้อมกับมะพร้าวเงินมะพร้าวทอง นัยว่าเพื่อให้ใช้ลูกมะพร้าวนั้นเป็นทุ่นในการยึดเกาะและลอยตัวไว้มิให้จมน้ำด้วยนั่นเอง

สุดท้ายนี้จะขอพูดถึงการใช้มะพร้าวบูชาในพม่า โดยมะพร้าวในพม่านั้นใช้เป็นเครื่องบวงสรวงหนึ่งในบรรดานัตหลวง คือเจ้าพ่องะตินเดและเจ้าแม่ชเว มรัต หละ ซึ่งถือเป็นเจ้าแห่งนัตหลวงทั้งปวง ธรรมเนียมการบูชานัตหลวงทั้งสองตนนี้มีขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจานสิตตาแห่งราชอาณาจักรพุกาม เนื่องด้วยมีตำนานว่านัตทั้งสองตนนี้ได้ช่วยเหลือในกิจการบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์เป็นอย่างมาก พระองค์จึงได้ประกาศให้ข้าราษฎร์ทั้งปวงทำการบวงสรวงนับถือนัตทั้งสองสืบต่อมา โดยให้ตั้งลูกมะพร้าวอ่อนเฉาะแล้วไว้ในบ้านเรือนเป็นการบูชา ลูกมะพร้าวที่ตั้งบูชานี้ยังใช้ทำนายสุขภาพของคนในครัวเรือนได้อีกด้วย ว่ากันว่าหากคนในบ้านนั้น ๆ เจ็บไข้ไม่สบายขึ้นมาก็ให้ดูผลมะพร้าว หากน้ำมะพร้าวยังเต็มเนื้อมะพร้าวยังสด คนป่วยก็จะฟื้นไข้ในไม่ช้า แต่หากข้างในเหี่ยวแห้งแล้วก็แสดงว่าคนป่วยอาการจะทรุดลง ต้องทำการแก้เคล้ดด้วยการถาวยมะพร้าวผลใหม่จึงจะหายป่วยไข้ขึ้นได้

ก็ขอจบเรื่องราวพิธีกรรมที่มีมะพร้าวมาเกี่ยวข้องด้วยแต่เพียงเท่านี้


No comments:

Post a Comment