Sunday, October 4, 2015

"บาตรไม้แก่นจันทน์แดง" ในพุทธประวัตินั้น ทำจากไม้ชนิดใดกันแน่?

ในคราวที่เขียนเรื่อง “มะม่วงในพุทธประวัติ” นั้น ได้กล่าวถึงการทำยมกปาฏิหาริย์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีที่มาจากการที่พระปิณโฑลภารทวาชได้กระทำปาฏิหาริย์จนชาวเมืองโจษจันกันนั้น ได้มีการกล่าวถึงบาตรที่ทำจากไม้จันทน์สีแดงดั่งครั่ง ไว้ เมื่อย้อนกลับมาดู ก็ให้สงสัยว่า บาตรเจ้าปัญหาลูกนั้น ทำจากไม้จันทน์จริงหรือ เพราะไม้จันทน์ในไทยนั้น มีสีออกเหลืองนวล ไม่ใช่สีออกโทนแดงแม้แต่น้อย และยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสีแดงก่ำดั่งปรากฏในพุทธประวัติ

ถ้าเช่นนั้น บาตรไม้แก่นจันทน์แดง ที่ว่านั้น ทำจากไม้อะไรกันแน่? ปัญหานี้ต้องย้อนกลับไปดูพรรณไม้ในแถบภูมิภาคอินเดีย เวทีแห่งเรื่องราวในพุทธประวัติ

จากการสืบค้นดู พบว่าในแถบภูมิภาคอินเดียนั้น มีพรรณไม้ที่เรียกขานกันในไทยว่าจันทน์ ที่มิใช่พันธุ์เดียวกับไม้จันทน์ ของไทย หรือ Mansonia gagei อยู่เช่นกัน ไม้ชนิดนั้นคือ sandalwood หรืออาจกล้อมแกล้มเรียกในชื่อไทยได้ว่าจันทน์หอม sandalwood มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Santalum album มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคอินเดียใต้ ปัจจุบันพบได้ในแถบออสเตรเลียทางเหนือเช่นกัน ในอดีตถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำมันจันทน์หอม หรือ sandalwood oil ปัจจุบันจัดเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์ที่รัฐบาลอินเดียเป็นผู้ควบคุมการปลูกและจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว (แน่นอนว่ามีการบักลอบตัดกันอยู่เนือง ๆ ) อย่างไรก็ตาม ไม้ชนิดนี้มีสีออกไปทางขาวนวลดังที่ระบุไว้ในชื่อ (album ในภาษาละตินหมายถึงสีขาว) จึงไม่น่าจะใช่ “ไม้แก่นจันทน์แดงดั่งครั่ง” ที่ระบุไว้ในพุทธประวัติเช่นกัน

ทั้งนี้ ในอินเดียนั้นยังคงมีไม้สกุลอื่น ๆ ที่เรียกกันว่า sandalwood อยู่ด้วย ไม้ชนิดนั้นคือ red sandalwood หรือในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus santalinus จากชื่อก็บ่งบอกว่าไม้ชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับ sandalwood มาก (santalinus แปลว่ามีลักษณะคล้าย sandalwood) ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ red sandalwood ไม่มีกลิ่นหอม ไม้ชนิดนี้เป็นญาติใกล้ชิดกับประดู่ป่า (Pterocarpus macrocarpus) ที่เป็นไม้สัญลักษณ์ประจำประเทศพม่าอีกด้วย

เนื่องด้วย red sandalwood มีเนื้อไม้สีแดงก่ำ (รวมไปถึงต้นประดู่ป่าด้วย) ประกอบกับในพุทธประวัตินั้นไม่ได้มีการระบุว่า”ไม้แก่นจันทน์แดงดั่งครั่ง” นั้นมีกลิ่นหอมหรือไม่ จึงอาจเป็นไปได้ว่า บาตรไม้จันทน์แดง เจ้าปัญหาที่เป็นที่มาของการบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นั้น ทำจากไม้ red sandalwood หาใช่ไม้จันทน์ที่คนไทยรู้จักไม่ครับ

แล้วในไทยนั้น ไม่มี “ไม้แก่นจันทน์แดง” อยู่บ้างเลยหรือ คำตอบคือ มีครับ ในไทยนั้นมีไม้ในสกุลจันทน์ผาอยู่ (สกุล Dracaena) ไม้ชนิดนี้เมื่อโดนเชื้อรากินเนื้อไม้จากสีน้ำตาลนวล จะกลับกลายเป็นสีแดงและมีกลิ่นหอมขึ้นมา (คล้ายกับ “ขอนดอก” ที่เกิดจากแก่นพิกุลโดนรากิน) ในตำรายาไทยจะใช้แก่นจันทน์แดงนี้เป็นยาแก้พิษไข้ทุกชนิด เมื่อคำนึงจากเรื่องราวในพุทธประวัติทีว่า บาตรแก่นจันทน์แดงนั้นทำจากไม้จันทน์ที่ลอยตามน้ำมา ก็อาจเป็นไปได้ว่าบาตรแก่นจันทน์แดงนั้นอาจทำจากไม้จันทน์ผา ซึ่งระหว่างที่ลอยตุ้บป่องมานั้น เชื้อราได้กัดกินจนไม้จันทน์ผานั้นกลายเป็นสีแดงแล้วได้เช่นกันครับ

อนึ่ง ไม้ในสกุลจันทน์ผาบางชนิดนั้นมีน้ำเลี้ยงสีแดงดั่งโลหิต ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต “โลหิตมังกร” มาแต่ครั้งโบราณ อันว่าโลหิตมังกรนั้นถูกนำมาใช้เป็นยาแก้สรรพโรคาในตำรายาพื้นบ้านของทั้งทางจีนและอินเดีย โดยจะเน้นรักษาโรคในระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหารเป็นหลักครับ 



No comments:

Post a Comment